
วิไลพร สามารถ
นักออกแบบแฟชั่น
(Fashion Designer)
ปัจจุบันรับงานออกแบบเฉพาะลูกค้าที่ต้องการชุดที่เหมาะสมกับบุคลิกของคุณลูกค้าแต่ละท่านเท่านั้น และยังรับผลิตชุดยูนิฟอร์มพนักงานของแต่ละบริษัท และเรามีโรงงานผลิตขุดเสื้อยืดโปโล เสื้อคอกลม แจ็กเก็ต และรับผลิตให้กับงานให้กับโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมาก


เสื้อผ้าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องนุ่งห่ม หรือเครื่องแต่งกาย เสื้อผ้ามีไว้ปกปิดร่างกาย และป้องกันภัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และเสื้อผ้ายังช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพให้มีภาพลักษณ์ที่ดี
หากต้องการมีภาพลักษณ์ที่ดี ผู้นั้นจะต้องเลือกแต่งกายดี มีรสนิยม รสนิยมของการแต่งกายขึ้นอยู่กับศิลปะ ศิลปะในการแต่งกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในการแต่งกายโดยทั่วไปจะคำนึงถึงขนาด รูปร่าง เพศ วัย และบุคลิกของการสวมใส่ และศิลปะจะเป็นส่วนเสริมเพิ่มเติมหรือประดับตกแต่งให้เกิดรสนิยม ศิลปะจึงมีความสัมพันธ์กับเสื้อผ้าและการแต่งกาย
องค์ประกอบศิลปะที่นำมาเกี่ยวข้องกับเสื้อผ้าและการแต่งกาย ได้แก่
1. ขนาดและสัดส่วน (Size and Proportion) ขนาดและสัดส่วนมีความสัมพันธ์กัน ขนาดเกี่ยวพันกับสัดส่วน หากร่างกายมีขนาดใหญ่ สัดส่วนจะขยายใหญ่ ดังนั้นในการแต่งกาย หรือการออกแบบเสื้อผ้าที่แก้ไขข้อบกพร่องของสัดส่วนของร่างกาย เช่น คนหน้าอกใหญ่ ควรสวมเสื้อที่มีปกหรือเสื้อคอวี เพื่อช่วยให้ทรวงอกเล็กลง หรือผู้ที่อ้วนควรเลือกเสื้อผ้าชุดหลวมที่ไม่เน้นบริเวณเอว หรือคับตึง เพราะจะเน้นให้เห็นขนาดที่ชัดเจน
2. ความกลมกลืน (Harmony) ความกลมกลืนในการแต่งกาย ได้แก่ ความกลมกลืนของสีเสื้อผ้าและการตกแต่ง การใช้สีตกแต่ง ควรมีความกลมกลืนกับบุคลิก อายุ เพศ และวัย ผู้สูงอายุควรใช้เสื้อผ้าที่มีสีเข้ม ไม่ฉูดฉาด เพราะจะทำให้ดูอ่อนโยน
3. การตัดกัน (Contrast) การตัดกันในการแต่งกาย ทำได้หลายวิธี ทั้งในด้านการตัดกันด้วยขนาด ลวดลาย แบบ หรือสี การตัดกันเพื่อสร้างจุดเด่น ดังนั้นในการตัดกัน จึงควรคำนึงถึงผู้สวมใส่ ว่ามีบุคลิกภาพที่เหมาะสมอย่างไร ในการตัดกันควรพิจารณาถึงปริมาณของการตัดกัน ซึ่งไม่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ของผลงาน เช่น การใช้สีตัดกันของเสื้อผ้า ควรตัดกันไม่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์
4. เอกภาพ (Unity) เอกภาพของการแต่งกายคล้ายกับความกลมกลืน ซึ่งเน้นในด้านความสัมพันธ์และความสอดคล้อง ในการแต่งกายควรให้มีความสอดคล้องในด้านแบบ สี หรือการตกแต่ง ให้ผสมกลมกลืนเป็นกลุ่มเดียวกัน หรือในลักษณะเดียวกันเพื่อดูเรียบร้อยสวยงาม เอกภาพในการแต่งกายได้แก่การแต่งกายในชุดทำงานที่มีสีเดียวกัน ตกแต่งในแบบเรียบง่าย แต่ดูคล่องแคล่วในการปฏิบัติงาน
5. การซ้ำ (Repetition) หากในการจัดอาหาร การวางแตงกวารอบขอบจานคือการซ้ำ ในการแต่งกายการเรียงกระดุมของเสื้อผ้าก็คือการซ้ำเช่นกัน การซ้ำทำในลักษณะของการตกแต่ง เช่น การติดลูกไม้รอบคอบเสื้อ หรือชายกระโปรง หรือการตกแต่งด้วยลวดลายของผ้า และสีของการตกแต่ง เหตุที่ต้องทำซ้ำก็เพื่อดึงดูดความสนใจ หรือเบี่ยงเบนความสนใจของส่วนบกพร่องต่าง ๆ ของร่างกายนั่นเอง
6. จังหวะ (Rhythm) ในการแต่งกาย จังหวะเปรียบเสมือนช่วงระยะของการนำสายตาที่เชื่อมโยงหรือต่อเนื่องกัน หรือการประสานต่อเนื่องกันของสายตาอย่างมีจังหวะของส่วนประกอบเครื่องแต่งกาย เช่น ปกเสื้อ เข็มขัด กระโปรงหรือรองเท้า การออกแบบเสื้อผ้าอย่างมีจังหวะก็เพื่อสานองค์ประกอบย่อยเข้าเป็นองค์ประกอบใหญ่ เพื่อสร้างจุดเด่นที่ชัดเจน การเชื่อมโยงสายตาอย่างมีจังหวะสามารถทำได้โดยการซ้ำของวัสดุที่คล้ายกัน หรือต่างกัน โดยทำเป็นจังหวะที่เหมือนกันหรือต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการสร้างจุดสนใจนั้น ๆ
7. การเน้น (Emphasis) เมื่อจังหวะสร้างจุดเด่น จุดเด่นนั้นจะทำให้เกิดการเน้น ในการเน้นของการแต่งกายเป็นการอำพรางข้อบกพร่อง โดยเบี่ยงเบนความสนใจไปยังส่วนอื่น หรือในขณะเดียวกันการเน้นอาจเรียกร้องหรือสร้างจุดสนใจให้กับการออกแบบนั้น ๆ ในการเน้นอาจเน้นด้วยเครื่องประดับ ลวดลาย หรือสีสันของลวดลายผ้า
8. ความสมดุล (Balance) ความสมดุลในการแต่งกายทำได้หลายวิธี ในการสร้างความสมดุลของการแต่งกายจะจัดแบ่งเป็นด้านบน และด้านล่าง เช่น เสื้อและกระโปรง หรือเสื้อกับกางเกง การทำให้สมดุล อาจใช้ลวดลายหรือน้ำหนักของสีเสื้อผ้าช่วยในการแบ่งน้ำหนักได้ เช่น ใส่กระโปรงสีดำ และใส่เสื้อสีขาวสลับดำ เป็นต้น
9. สี (Color) สีเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับงานศิลปะ เพราะสีต่าง ๆ จะทำให้เกิดความสวยงาม น่าสนใจ และแสดงถึงอารมณ์ ความรู้สึก ในการแต่งกายสีจะช่วยเสริมบุคลิกของผู้สวมใส และ
ยังเป็นแรงบันดาลใจในการแสดงออกถึงความรู้สึก และความน่าสนใจ ดังนั้นในบริษัทใหญ่ ๆ หลายบริษัทจึงได้จ้างนักออกแบบเสื้อผ้า ออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย โดยเลือกแบบและสีเพื่อสร้างความสนใจต่อลูกค้าเช่น พนักงานธนาคาร พนักงานต้อนรับ หรือพนักงานขายสินค้า จะมีสีสันที่แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของงาน ในการใช้สีของเสื้อผ้าควรใช้ในลักษณะของค่าน้ำหนัก (Value) คือ มีการใช้สีอ่อน-แก่ เพื่อเกิดความแตกต่างของค่าน้ำหนักสี เช่น สีเขียวอ่อนหรือสีเขียวเข้ม หรือการใช้สีประสานกลมกลืน (Harmony) ที่ดูแล้วนุ่มนวล เช่น สีโทนเดียวกัน และหากต้องการความสดชื่นการใช้สีสดหรือสีตัดกันในปริมาณที่ต่างกันก็อาจทำให้สดชื่นได้
ในการแต่งกายที่เกี่ยวข้องกับการใช้สีทางจิตวิทยา
จะมีปฏิกริยาต่ออารมณ์ของการแต่งกาย ดังนี้
สีแดง เป็นสีที่กระตุ้นจิตใจเป็นอย่างดี เย้ายวน ร้อนแรง ผู้ที่ใส่สีแดงจะต้องเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง เปิดเผย และเป็นผู้นำ
สีเหลือง เป็นสีที่บ่งบอกถึงความเป็นมีคนมีอารมณ์ดี ร่าเริง อ่อนโยน มีพลัง ความฉลาด และจินตนาการ สนใจงาน การใส่สีเหลืองอาจลดความสดใสลงหรือใส่เป็นเสื้อคลุมจะทำให้ลดความเจิดจ้าลง
สีเขียว เป็นสีที่แสดงออกถึงความสุขุม เยือกเย็น เหมาะสำหรับงานที่ต้องใช้พลัง หรือความคิด เมื่อใส่สีเขียวจะดูเป็นคนกระฉันกระเฉงและพัฒนาตนเอง
สีฟ้า เป็นสีของความสงบและพักผ่อน มักใส่ในวันหยุดในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ดูสดชื่น ควรเลี่ยงสีฟ้าหากรู้สึกหดหู่เพราะจะทำให้เหงามากขึ้น ควรใส่คู่กับสีส้มอ่อน
สีม่วง เป็นสีที่ขรึม สง่า เกิดความศรัทธาและความสงบ หากเป็นคนที่เปิดกว้างจะยอมรับสีม่วงได้
สีม่วงปนแดงจะสร้างความมั่นใจได้ดี
สีขาว เป็นสีที่ใสสะอาด เข้าได้กับทุกสี ชอบค้นหาความจริงของชีวิต เป็นสีของนักคิด เมื่อใส่
สีขาวจะทำให้ขาดอำนาจในการตัดสินใจ
สีดำ เป็นสีที่แสดงออกถึงความมั่นในตัวเอง ผู้ที่ใส่สีดำจะแสดงถึงการให้ผู้อื่นนับถือ เป็นสีที่ชอบอยู่อย่างโดดเดี่ยว
สีน้ำเงิน เป็นสีที่ควบคุมตนเองได้ดี มีความลึกซึ้ง รับผิดชอบ สนุกกับทุกเรื่อง ควรใช้สีน้ำเงินกับสีสดใสต่าง ๆ จะทำให้ดูดีขึ้น
การแก้ไขข้องบกพร่องด้วยเสื้อผ้า
นอกจากนี้หลักการทางศิลปะต่าง ๆ ยังช่วยแก้ไขปัญหา และอำพรางข้อบกพร่องต่าง ๆ ของร่างกายได้อีก ดังตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้
1. รูปร่างผอมสูง ถึงแม้จะมีรูปร่างดี แต่หากใส่เสื้อผ้ารัดรูปมากเกินไป เช่นใส่เสื้อแขนกุด หรือผ้ายืดบางรัดรูปจะเน้นให้เห็นสรีระที่ผอมบางชัดเจน ควรใส่เสื้อผ้าผ้าที่หนา ๆ หรือจีบพองฟู เพราะจะเสริมให้ดีหนาขึ้น และมีบุคลิกที่ดีขึ้น
2. รูปร่างอ้วนเตี้ย หากคอสั้นทำให้คอดูยาวขึ้น ควรใส่เสื้อคอวี หรือคอเชิร์ทจะช่วยให้ใบหน้าดูยาวขึ้น ไม่ควรใส่เสื้อปิดคอจะทำให้คอสั้นลง ลวดลายของเสื้อผ้าควรเป็นดอกเล็กๆ และลายตั้ง ห้ามใส่ฟองน้ำเสริมไหล่เพราะจะดูหนาขึ้น ไม่ควรใส่ชุดติดกันเพราะจะเน้นขนาด และตัดกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ควรสวมกระโปรง และเสื้อแยกชิ้น และมีสีเข้ม ไม่ควรใช้ผ้าหนาเพราะจะเพิ่มความอ้วนขึ้นอีก
3. สะโพกใหญ่ ไม่ควรสมเสื้อเอวลอย เพราะจะเน้นสะโพกชัดเจน ควรสวมกระโปรงที่ตัดเย็บจากผ้านิ่ม ๆ พริ้วทั้งตัว สีเข้มเพื่ออำพราง ไม่ควรสวมกระโปรงหรือกางเกงที่รัดรูป เพราะจะเน้นความใหญ่ของสะโพก และควรสวมกระโปรงคลุมเข่าเพื่อกระชัดสะโพกมากขึ้น
4. หน้าอกใหญ่ สวมเสื้อที่มีปกหรือคอวี เพราะจะทำให้ทรวงอกดูเล็กลง ใส่เสื้อสีเข้มตัดเย็บด้วยผ้าที่บางเบา หลีกเลี่ยงเสื้อที่มีลวดลาย หรือมีกระเป๋าที่หน้าอก เพราะจะทำให้เกิดจุดเด่น และเพิ่มความหนาให้หน้าอกได้
5. ไหล่แคบ ควรสวมเสื้อผ้าที่มีฟองน้ำ และเลือกผ้าพริ้วบาง
ไม่มีใครที่จะมีรูปร่างสวย หรือสมบูรณ์ไปทุกอย่าง หากแต่ได้นำหลักการทางศิลปะมาประยุกต์ใช้ ก็จะสามารถทำให้ความบกพร่องนั้นลดลง และมีบุคลิกภาพที่ดีขึ้นได้
ในปัจจุบัน ไม่ว่าสถานการณ์ของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม แต่หลักการทางศิลปะต่าง ๆ ที่กล่าวมายังคงนำมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นก็ตาม

ค่าของคน
อยู่ที่ผลของงาน











